ความเป็นมา
       ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้สามารถ นอกจากความสนพระทัยทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแล้ว ยังมีความสนพระทัยในงานด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นอย่างสูง ได้เสด็จทอดพระเนตรกิจกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และทรงเห็นศักยภาพในการเพาะเลี้ยงหอยทะเลของประเทศไทย โดยเฉพาะหอยเชลล์ ซึ่งน่าจะได้รับการศึกษาและพัฒนาให้เป็นอาชีพทางเลือกของเกษตรกรได้ และยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชายฝั่งทะเลของไทยด้วย ได้ทรงจัดตั้งหน่วยศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงหอยเชลล์ขึ้นที่เกาะลันตา และได้เสด็จมาทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก หลักสูตรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตั้งแต่ภาคต้น พ.ศ.2545 (มิถุนายน 2545)
     หลักสูตรที่ทรงเลือกเป็นแบบ 2(1) ซึ่งเน้นงานวิจัยเป็นหลัก โดยทรงศึกษาวิจัยเรื่อง การเพาะเลี้ยงและพันธุศาสตร์ของหอยเชลล์ (Chlamys senatoria) ซึ่งจะทรงทำการวิจัยด้านการเพาะเลี้ยง ณ สถานีวิจัยประมงศรีราชา ส่วนการศึกษาทางพันธุศาสตร์ จะทรงใช้สถานที่และอุปกรณ์ของภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
  อาคารวลัยลักษณ์
 

     มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดที่ประทับและทรงงานปฏิบัติการทางพันธุศาสตร์ถวาย โดยได้ปรับปรุงอาคารภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียว เป็นอาคารที่ประทับและทรงงานในห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วยห้องทรงงานขนาด 100.00 ตารางเมตร ห้องปฏิบัติการพันธุศาสตร์สัตว์น้ำขนาด 80.00 ตารางเมตร ห้องประชุมขนาด 40.00 ตารางเมตร ห้องพักอาจารย์ขนาด 70.00 ตารางเมตร และพื้นที่ใช้สอย ขนาด 60.00 ตารางเมตร
      ในส่วนงานวิจัยวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เนื่องจากหลักสูตรที่จะทรงศึกษา เป็นหลักสูตรแบบที่ทำวิทยานิพนธ์เพียงอย่างเดียว ได้ก่อสร้างอาคาร 2 ชั้น ด้านหลังของอาคารทรงงาน ชั้นล่างประกอบด้วยโรงเพาะฟักขนาด 250.00 ตารางเมตร เพื่อการเพาะพันธุ์หอยที่ใช้ในการวิเคราะห์ทางพันธุศาสตร์ ห้องแช่ตัวอย่าง ห้องพักอาจารย์ 4 ห้อง และพื้นที่ใช้สอยอื่น ๆ รวม 500.00 ตารางเมตร
     ชั้นบนประกอบด้วยห้องบรรยาย 3 ห้อง พื้นที่ 280.00 ตารางเมตร ห้องปฏิบัติการโรคสัตว์น้ำและห้องปฏิบัติการแพลงค์ตอน พื้นที่ 140.00 ตารางเมตร
     การปรับปรุงอาคารทรงงาน ได้รับงบประมาณ 6 ล้านบาท และการก่อสร้างโรงเรือนเพาะฟักได้รับงบประมาณ 10 ล้านบาท จากงบประมาณประจำปี 2546 และได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อครุภัณฑ์ 2 ล้านบาท การก่อสร้างใช้เวลา 360 วัน
     อาคารทรงงานและโรงเพาะฟักนี้ ได้รับพระราชทานชื่ออาคารจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัคราชกุมารี ว่า “ อาคารวลัยลักษณ์” และพระราชทานตราประจำพระองค์เพื่อประดับหน้าอาคาร เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2547

- ชมภาพพิธีเปิดอาคารวลัยลักษณ์
 
กำหนดการ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ทรงเปิดอาคารวลัยลักษณ์ คณะประมง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร
วันพุธที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๘
๑๕.๔๐ น.
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจักรีบงกช
  จังหวัดปทุมธานี ไปถึง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร
๑๖.๐๐ น.
- รถยนต์พระที่นั่งถึง อาคารวลัยลักษณ์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาชัย)
- นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิการบดี คณบดีคณะประมงเฝ้ารับเสด็จ
  - ผู้แทนนิสิตคณะประมง ถวายพวงมาลัย
- เสด็จเข้าสู่พลับพลาพิธี
- ประทับพระเก้าอี้
- นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าเฝ้าถวายสูจิบัตร
- คณบดีคณะประมง เข้าเฝ้าถวายของที่ระลึก
- อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กราบทูลรายงาน
- เบิกผู้มีอุปการคุณเข้ารับโล่ห์ที่ระลึก (จำนวน ๒ ราย)
- เสด็จไปยังแท่นทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอาคารวลัยลักษณ์ (วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์)
- เสด็จไปยังห้องประทับพักพระอิริยาบถ - เสด็จทอดพระเนตรห้องปฏิบัติการพันธุศาสตร์สัตว์น้ำ
- ทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะทำงานในการถวายงานโครงการหอยเชลล์
   (จำนวน ๓ ชุด)
- ทรงลงพระนามในสมุดเยี่ยม
- เสด็จไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง
           (วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาชัย)
- เสด็จกลับ
   
  การแต่งกาย เครื่องแบบปกติขาว


[Back]