นายกฯ ทักษิณ แนะใช้งานวิจัยเชื่อมโยงสังคม สร้างองค์ความรู้ใหม่ให้ทันการเปลี่ยนแปลงโลก

4
     การศึกษาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทุกระบบต้องพร้อมก้าวตามกระแสโลก เพราะการศึกษาคือพื้นฐานในการสร้างทรัพยากรบุคคลอันเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง และอุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศชาติก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ก็คือการเชื่อมโยงงานวิจัย นำไปใช้ และเผยแพร่สู่สาธารณชน

     ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้เกียรติบรรยายพิเศษในการประชุมสัมมนาอาจารย์และบุคลากรสายวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 ในหัวข้อเรื่อง “การปรับตัวของคณาจารย์เพื่อรับงานการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ” โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่รอดในยุคนี้ ยุคที่โลกย่อเล็กลงด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบการศึกษาก็เช่นเดียวกันที่จะต้องก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกนาที ไม่ยึดติดกับอดีตมากเกินไปจนลืมคิดถึงอนาคต เพราะในยุคนี้ใบปริญญาไม่ใช่สิ่งสำคัญมากไปกว่าความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ตลอดชีวิต อยากให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งสร้างค่านิยมใหม่ให้กับทั้งอาจารย์ นิสิต นักศึกษา และบุคลากร ในการฝึกคิด ฝึกมองให้กว้างขึ้น ช่างสังเกต ช่างสงสัย และแสวงหาความรู้เพื่อตอบคำถามให้ได้ นี่คือการคิดที่จะนำไปสู่การทำวิจัยเพื่อพัฒนาสถาบัน ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในวันนี้กำลังทำอยู่และทำได้ดีทีเดียว สิ่งที่สำคัญคือต้องรักษาจุดแข็งของมหาวิทยาลัยไว้ให้ได้และพยายามสร้างจุดแข็งใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ นำงานวิจัยมาต่อยอด ผสมผสานศาสตร์ในสาขาวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เช่น วิศวกรรมและอุตสาหกรรม , วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี , สารสนเทศการเกษตร เป็นต้น ซึ่งการผ่าเหล่าทางการศึกษานี้จะทำให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะการพัฒนาการศึกษาด้านการเกษตรสำคัญต่อการอยู่รอดของประเทศไทยมาก เพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรมต้องพึ่งพาดินและน้ำ ดังนั้นผู้รู้ในสาขาการเกษตรคือกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ การยกระดับสินค้าในภาคเกษตรกรรมทั้งหลายจะต้องอาศัยงานวิจัยเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่า เพิ่มความมั่นใจในการลงทุน และช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าที่สุด จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่จะต้องร่วมมือกัน เชื่อมโยงงานวิจัยและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

     ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจึงเข้ามามีบทบาทในการกำหนดบทบาท ภาระหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา และต้องปฏิรูปไปพร้อมกันทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับบัณฑิตศึกษา รวมถึงการศึกษานอกระบบด้วย ซึ่งการเรียนการสอนในยุคนี้ต้องมีพื้นฐานจากความเข้าใจ ไม่ใช่การท่องจำ เพราะเมื่อความรู้ที่ได้เกิดจากความเข้าใจจริงก็จะนำไปสู่การนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นกระบวนการ ทั้งครูและนักเรียนจะต้องผลัดกันเรียนผลัดกันสอนใช้ระบบการเรียนรู้ร่วมกัน การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงต้องมุ่งไปที่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ Freedom for Education สำคัญมาก การให้อิสระทางความคิดจะช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ พยายามหาหนทางในการลดความแตกต่างลงด้วยการเดินทางสายกลางไม่หย่อนยานและไม่สุดโต่ง ใช้องค์ความรู้ร่วมกับเทคโนโลยี และดึงทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ ความเร็วเป็นสิ่งสำคัญมาก ข้อมูลข่าวสาร การแข่งขันทางการค้า สิทธิบัตร กฎเกณฑ์ระเบียบต่างๆ และการตักตวงความรู้ จะต้องลื่นไหล คล่องตัว และเข้าถึงได้โดยง่าย

     นอกจากนี้ นายกฯทักษิณ ยังได้ฝากความหวังไว้กับระบบการศึกษาของไทยอีกว่า ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันสร้างมันสมองของชาติให้ทันการเรียนรู้ใหม่ เพราะเด็กไทยในวันนี้ต้องการอิสระสำหรับการศึกษา สถาบันการศึกษาจะต้องมีหลักสูตรใหม่ให้เขาได้เลือกเรียนตามความชอบและความถนัด มีห้องสมุดที่มีชีวิตให้เด็กได้ค้นคว้าหาความรู้ได้อย่างเต็มที่ ทั้ง e-book และอินเตอร์เน็ต รวมทั้งวารสาร งานวิจัยของต่างประเทศก็ต้องมีจำนวนมากพอกับการค้นคว้าได้ทันเหตุการณ์ ที่สำคัญก็คือความสัมพันธ์ระหว่างครูอาจารย์และศิษย์ จะต้องปรับเปลี่ยนไปในทางบวก ไม่ใช่ครูอาจารย์ คือผู้มีอำนาจในการกำหนดชะตาชีวิตทางการศึกษา แต่อยากให้เด็กมองครูอาจารย์ว่า คือผู้ที่ประสิทธิประสาทวิชา เป็นผู้ให้แสงสว่างแก่ชีวิต ให้คำแนะนำคำสั่งสอน เพื่อส่งผลให้กระบวนการการเรียนรู้โดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางนั้นเกิดขึ้นได้จริง

[Back]