ม.เกษตร รับงบจาก สกว. 40 ล้านบาท
ต่อยอดงานวิจัยพัฒนาขบวนการสหกรณ์ 36 จังหวัด

4
     การพัฒนาความเข้มแข็งและการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือของสหกรณ์และกลุ่ม/องค์กรประชาชน จะเป็นที่พึ่งของสมาชิกและชุมชนของประเทศให้มีศักยภาพและความพร้อม ในการแก้ไขปัญหาความยากจน ตลอดจนการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและยั่งยืนตลอดไป

     วันพุธที่ 1 มิถุนายน 2548 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มก. รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามบันทึกความร่วมมือการดำเนินงาน “โครงการวิจัยการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ในพื้นที่ 36 จังหวัด” กับ ศาสตราจารย์ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อต่อยอดและขยายองค์ความรู้จากงานวิจัยสหกรณ์ตลอดจนเชื่อมโยงและสร้างเครือข่าย

     รองศาสตราจารย์ จุฑาทิพย์ ภัทราวาท รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ในพื้นที่ 36 จังหวัด ว่า ตั้งแต่ปี 2545 ได้ดำเนินโครงการวิจัยด้านสหกรณ์โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดทำโครงการ “แนวทางการพัฒนาเครือข่ายกลุ่ม/องค์กรประชาชนใน พื้นที่จังหวัด” ซึ่งประกอบด้วยโครงการย่อย 9 จังหวัด โดยการดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (participatory action research) ซึ่งได้ผลตามที่คาดหวังคือ ได้ทั้งองค์ความรู้ที่จะนำไปเป็นนโยบายในการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ และความร่วมมือระหว่างกลุ่ม/องค์กรประชาชน นอกจากนั้นยังได้สร้างเครือข่ายนักวิจัยทั้งในมหาวิทยาลัยและระหว่างมหาวิทยาลัยและผู้นำองค์กรชุมชนเป็นจำนวนมากที่จะเป็นแกนนำในการเผยแพร่และให้การสนับสนุนเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ต้องการจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันในแนวทางของสหกรณ์ต่อไป โดยชุดโครงการย่อย 9 จังหวัดจะสิ้นสุดโครงการในเดือนกรกฎาคม 2548

     สำหรับโครงการวิจัยการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ ในพื้นที่ 36 จังหวัด นี้เป็นการต่อยอดและขยายผลองค์ความรู้จากงานวิจัยสหกรณ์ เพื่อขับเคลื่อนขบวนการสหกรณ์ ซึ่งทางสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เห็นความสำคัญของการพัฒนาความ เข้มแข็งและการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือของสหกรณ์และกลุ่ม/องค์กรประชาชน โดยมุ่งให้สหกรณ์และกลุ่ม/องค์กรประชาชน มีศักยภาพและความพร้อม ตลอดจนมีความร่วมมือกันที่จะดำเนินงานด้วยความเข็มแข็งและยั่งยืน เพื่อเป็นที่พึ่งของสมาชิกและชุมชนในการแก้ไขปัญหาความยากจนและการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในชุมชน ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ต้องการสนับสนุนให้กลุ่ม/องค์กรประชาชน เป็นพลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนแก่สมาชิกองค์กร ซึ่ง สกว. สนับสนุนในการวิจัย ฯ จำนวน 40 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในพื้นที่ 36 จังหวัด ภายในเวลา 1 ปี

[Back]