พระเทพโสภณแนะอาจารย์ที่ปรึกษา
สวมบท “กัลยาณมิตร” สอนศิษย์เป็นคนดี

 

     การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนิสิต และนำความรู้เรื่องคุณธรรมจริยธรรมไปปรับใช้ในการเรียนการสอนควบคู่ไปกับการให้ความรู้ ทางวิชาการ โดยมุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนานิสิตให้เป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ มีคุณธรรมจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม สามารถแก้ปัญหา และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ รวมทั้งมีความเสียสละอุทิศตนและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม อาจารย์ที่ปรึกษาจะเป็นส่วนสำคัญ ในการสั่งสอนลูกศิษย์
     พระเทพโสภณ อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) กล่าวปาฐกถา ในการสัมมนา เรื่อง “บทบาทอาจารย์ที่ปรึกษา กับการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนิสิต” จัดโดย กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ณ สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรม การเกษตร มก. เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า การพัฒนานิสิตให้ซึมซับคุณธรรมจริยธรรมที่อาจารย์แต่ละท่านสอดแทรก ในชั่วโมงสอนให้นั้น คือ การสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นิสิตได้มีสติใส่ใจอยู่กับปัจจุบัน ให้ผู้เรียนตื่นตัวมองให้เห็น ฟังให้ได้ยิน ก็จะเกิดปัญญา เมื่อสติมาปัญญาเกิด เพราะรับข้อมูลเต็มที่เห็นภาพรวมทั้งหมด ดังนั้นบทบาทของอาจารย์ก็คือ ต้องสวมบทกัลยาณมิตร เพื่อกล่อมเกลาให้ลูกศิษย์เป็นคนดี เป็นคนเก่งที่มีสมรรถภาพ (I.Q.) มีคุณภาพดี (E.Q.) และสุขภาพกายและใจมีสุข (E.Q.)
     อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะสอนผู้อื่นจะต้องอ่านตนเองให้ออกก่อน ว่าจะทำบทบาทอะไร บอกตนเองได้ สอนตนเองได้ ใช้ตนเองเป็น อย่าให้โอกาสหลุดลอยไป ต้องสั่งตนเองให้ทำ และเห็นตนชัดรู้จักการปล่อยวาง
     อธิการบดี มจร. กล่าวว่า ท่าทีในการให้คำปรึกษามี 3 ประเภทคือ
อัตตาธิปไตย
คือ การถือตนเป็นใหญ่ ทำไปตามความคิดเห็นของตนเอง
โลกาธิปไตย
คือ การถือคนอื่นเป็นใหญ่ปล่อยทิ้งให้แก้ปัญหาเอง และ ที่ดีที่สุดในการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คือ
ธรรมาธิปไตย
ยึดหลักการ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผลเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง รู้จักข่มอารมณ์ตนเอง อดทนดูแลเอาใจใส่ มีเป้าหมายและวางแผนร่วมกัน โดยลูกศิษย์ต้องลงมือทำเอง ส่วนอาจารย์เป็นผู้ชี้ทาง ดังนั้น อาจารย์ท่านใด อยากเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาที่ดีจะะต้องมี 4 ส. คือ
1. สันทัสสนา คือ สอนแจ่มแจ้งวิชาการ
2. สมาเทปนา คือ จูงใจ มีตัวอย่างหรือแบบอย่างเป็นแรงจูงใจให้ลูกศิษย์
3. สมุตเตชนา คือ แกล้วกล้า และ
4. สัมปหังสทา คือร่าเริง และต้องรู้ถึงความแตกต่างของพื้นนิสัย (จริต 6) ได้แก่ ภคจริต โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต และวิตกจริต
     โดยสรุปแล้ว การพัฒนานิสิตให้มีคุณธรรม เก่งดี มีสุข นั้น ไม่ต้องใช้ธรรมะมากข้อ แต่เลือกใช้ให้ตรงกับปัญหา ธรรมะเปรียบเสมือนยา ต้องเลือกหัวข้อธรรมะให้สอดคล้องกับปัญหาที่จะแก้ พระเทพโสภณ กล่าวในที่สุด.


ต้องการภาพ ดูได้ที่ http://pr.ku.ac.th/pr_pic/html/07JULY48.htm

 
[Back]