ชาวกทม. ได้สวนสาธารณะเพิ่มอีกแห่ง รัฐบาลอุดหนุนงบ 21 ล้านบาท
ให้นักวิชาการ มก. ฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนชายทะเลบางขุนเทียน

ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับอนุมัติให้จัดทำโครงการปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ปรับปรุงภูมิทัศน์ชายทะเลบางขุนเทียน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้กับสำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร โดยรัฐบาลให้เงินอุดหนุนดำเนินโครงการ จำนวน 21 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จ ภายใน 730 วัน ครอบคลุมพื้นที่ปลูกป่าทั้งสิ้น 170 ไร่ ทั้งนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นราชสักการะและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาส 72 พรรษา นับเป็นสวนสาธารณะและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ล่าสุดของประชาชนและชาว กทม.

อาจารย์ดำรงค์ ศรีพระราม หัวหน้าโครงการฯ อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มก. กล่าวว่า มก. และ กทม. ได้ตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อพัฒนาพื้นสีเขียวของ กทม. มาประมาณ 7 ปี แล้ว โดยได้มีการสำรวจและปรับปรุงต้นไม้ในพื้นที่ต่าง ๆ ของ กทม. มาตามลำดับ สำหรับโครงการปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนปรับปรุงภูมิทัศน์ชายทะเลบางขุนเทียน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่สีเขียวของ กทม. เช่นกัน ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมป่าไม้ ในปี 2543 รายงานว่า กทม. มีพื้นที่ป่าชายเลนเหลืออยู่เพียง 2,000 ไร่ ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวคือบริเวณหมู่ 9 และหมู่ 10 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน เท่านั้น และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสรับสั่งให้รักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติชายทะเลบางขุนเทียน ควบคุมการพัฒนาของเมืองตั้งแต่คลองพิทยาลงกรณ์จนถึงชายทะเล เพื่อให้คงสภาพธรรมชาติสวยงามและมี คุณค่า รวมไปถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำรัสแสดงความห่วงใยปัญหา ป่าไม้ชายเลนของประเทศด้วยเช่นกัน นอกจากนี้นโยบาลของรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2546 ก็ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียนอย่างมากว่า พื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียนเป็นพื้นที่ติดทะเลอยู่ใกล้เมืองหลวงมากที่สุด หากสามารถ ฟื้นฟูสภาพและปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะ และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไปได้ โดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมเดิมก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับส่วนรวม ดังนั้นเพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ และเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาว กทม. จึงเกิดเป็นที่มาของโครงการนี้

หัวหน้าโครงการ กล่าวเพิ่มเติมถึงการดำเนินการในขั้นต้นว่า โครงการจะดำเนินการเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสม และฟื้นฟูระบบนิเวศของพืชพรรณก่อนเป็นอันดับแรก โดยส่งเสริมให้ชุมชนนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมกับโครงการ อาทิ ให้ชาวบ้านจัดหาพันธุ์ไม้ เพื่อเตรียมกล้าพันธุ์ไม้ขนาด 1 เมตร สำหรับการปลูก และจะจัดสร้างเรือนเพาะชำต้นไม้ขึ้นในโรงเรียนพิทยาลงกรณ์ เมื่อโครงการแล้วเสร็จก็จะมอบให้กับโรงเรียนเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป ขณะเดียวกันก็จะดำเนินการเตรียมพื้นที่ปลูกป่าชายเลน โดยทำคันดินกว้าง 2 เมตร ความสูงในระดับถนน สำหรับพื้นที่บริเวณสองข้างทางถนน จะจัดเตรียมไว้สำหรับปลูกพันธุ์ไม้ป่าทนเค็มโดยเน้นความหลากหลายของชนิดพันธุ์ และในท้ายที่สุด โครงการจะดำเนินการจัดการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ชุมชนในท้องถิ่น ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการปลูกป่าชายเลน และการจัดการป่าชายเลน เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืนต่อไป
จัดทำโดย : ประชาสัมพันธ์ มก.
lBackl