สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ
สยามมกุฏราชกุมาร
เสด็จฯ ทรงเปิด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
วิทยาเขตที่ 4 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร วิทยาเขตที่ 4 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่เน้นการพัฒนาจังหวัดสกลนครให้เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา และการพัฒนาอาชีพในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
รองศาสตราจารย์ ดร . วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยว่า เมื่อปี 2538 รัฐบาลได้มีนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาสู่ภูมิภาคให้ทั่วถึง จึงได้เสนอโครงการจัดตั้งวิทยาเขตที่จังหวัดสกลนคร ขึ้นเพื่อสนองต่อความต้องการของประชาชนในภาคอีสานตอนบน โดยเริ่มก่อตั้งแต่ปี 2539 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงครองราชสมบัติ 50 ปี และเป็นการขยายโอกาสการศึกษาไปยังภูมิภาค จึงได้ก่อตั้งวิทยาเขตที่ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร บนพื้นที่ 4,700 ไร่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามว่า “ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร” พร้อมทั้งพระราชทานตราสัญลักษณ์ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี แก่มหาวิทยาลัยด้วย เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2539 และเมื่อปีการศึกษา 2539 เปิดรับนิสิตเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี รุ่นแรก ( ฝากเรียนที่วิทยาเขตบางเขนและกำแพงแสน) และในปี 2543 นิสิตไปเรียนที่วิทยาเขตและจบการศึกษาเมื่อปี 2547 ปัจจุบันมีนิสิตทุกระดับ 2,900 คน

ปัจจุบัน มก. ฉกส. เป็น 1 ใน 10 ของวิทยาเขตสารสนเทศ ของทบวงมหาวิทยาลัย ที่มีระบบการเรียนการสอนทางไกล โดยใช้ระบบเครือข่ายเชื่อมโยงกับระบบ UNINET ของทบวงมหาวิทยาลัย เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและก้าวไกลเพื่อใช้สำหรับสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ และแหล่งค้นคว้าความรู้เพิ่มเติม ในรายวิชาที่เปิดสอน สืบเนื่องจากการจำกัดอัตรากำลังในภาครัฐ ซึ่งก่อให้เกิดความขาดแคลนด้านบุคลากร และมีผลกระทบต่อการเรียนการสอนของวิทยาเขตเปิดใหม่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบบริหารการจัดการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ระบบการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ โดยเปิดการเรียนการสอนใน 3 คณะ และเน้นรับนักเรียนทีอยู่ในอีสานตอนบนและบริเวณใกล้เคียงเข้าศึกษา คือ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ

สำหรับแหล่งทุนให้นิสิต จากกองทุนจังหวัดสกลนคร นำดอกผลจัดสรรเป็นทุนการศึกษาแก่นิสิตวิทยาเขตเพื่อให้กลับมารับราชการหรือทำงานที่วิทยาเขต ทุนโครงการพัฒนาอาจารย์วิทยาเขตสารสนเทศ นอกจากนี้ยังมีทุนยกเว้นค่าเล่าเรียน สำหรับนิสิตที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมหรือสำหรับนิสิตที่สร้างชื่อเสียง หรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างเด่นชัด กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กองทุนสวัสดิภาพนิสิต

นอกจากนี้ ในปี 2545 มก. ฉกส. ได้จัดทำฟาร์มตัวอย่างในลักษณะคลีนิกเกษตรบนพื้นที่ 2,000 ไร่ เป็น “ อุทยานเกษตรเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระราชกรณียกิจด้านการเกษตรที่ทรงมีต่อเกษตรกรไทย และให้เป็นสถานที่ทดลองสำหรับงานวิจัยและพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ และในปี 2547 เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้จัดทำโครงการ “ อุทยานธรรมชาติวิทยาป่าเต็งรัง 72 พรรษา บรมราชินีนาถ” ที่เป็นพื้นที่ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชนิดดิน และพืชพันธุ์ที่สำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ในพื้นที่ป่าเต็งรังของวิทยาเขตประมาณ 1,000 ไร่ เพื่อกำหนดรูปแบบจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติในอุทยานป่าเต็งรังและพันธุ์ไม้ในอุทยานธรรมชาติวิทยาป่าเต็งรัง

อนึ่ง ในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2547 เวลา 17.30 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยพระองค์เจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาและหม่อมเจ้าหญิง สิริวัณวรี มหิดล ทรงประกอบพิธีเปิด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ทรงเปิดอุทยานธรรมชาติป่าเต็งรัง 72 พรรษา บรมราชินีนาถ และทรงเปิดอุทยานเกษตร 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ณ บริเวณมณฑลพิธี

อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ www.ku.ac.th.
 
[Back]